เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือ นามที่เรียกขานโดยทั่วไปว่า“ เจ้าคุณทหาร “หรือสร้อยนามตามยศที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ว่า

 เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์พิพัฒนศักดิ อรรคยโสดมบรมนารถวรุตมามาตย์มหาเสนาธิบดี วรคชสีห์สิงหมุรธาธร ทักษิณนครคาม รัษฎานุกิจการ ทวยหาญพลพยุห์เนตร์นเรศวรนายก สยามดิลกเสนางค์นฤบดินทร์ ปรมินทรมหาราชวโรประการกิจสรรพประสิทธิยุติธรรมธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุห์พระกระลาโหม

สมภพเมื่อ วันศุกร์ เดือน ๘ อุตรสาธ แรม ๖ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิ์ศก ๑๑๙๐ (๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๑)

บิดาชื่อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  (ช่วง บุนนาค) มารดาชื่อ ท่านผู้หญิงกลิ่น บุนนาค

มีพี่น้องรวม ๔ ท่าน โดยท่านเป็นบุตรชายคนโตและน้องสาวอีก ๓ คน

อสัญกรรม เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ ตรงกับวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๑

สิริอายุรวม ๖๐ ปี ๓ เดือน ๔ วัน มีบุตร ธิดารวม  ๖๕  คน

ประวัติการทำงานและผลงานของท่านเจ้าคุณทหาร

           ได้เริ่มรับราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้ถวายตัวรับราชการเมื่ออายุ ๑๔ ปี เริ่มจากเป็นนายงานตรวจงานทำกำปั่นใบ

           ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๔ ) ได้รับตำแหน่ง เจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ในคราวรับหน้าที่เป็นอุปทูตเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส  1 ปี จวบจนตำแหน่งสุดท้ายในรัชกาลคือ พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ จางวางมหาดเล็ก ทำหน้าที่เป็นราชทูตเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งเพื่อเจรจาข้อขัดแย้งกับประเทศฝรั่งเศส

           ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริว่า "พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ จางวางมหาดเล็ก ก็เป็นพระบรมญาติสนิทเนื่องในพระวงศ์นี้ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมีตำแหน่งฐานันดรยศมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เลื่อนที่เป็นพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ จางวางมหาดเล็กมาช้านาน ได้เป็นผู้บัญชาการต่อและตกแต่งเรือรบเรื่อพระที่นั่งกลไฟและเรืออื่นๆและบังคับบัญชาการทหารอย่างยุโรป เป็นคุณแก่แผ่นดินมากหลายประการและมีวิริยะปริชาญาณสามารถมีน้ำใจองอาจแกล้วกล้ารอบรู้ในราชกิจน้อยใหญ่และได้ทรงคุ้นเคยเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยแต่เดิมมา บัดนี้ตั้งอยู่ในที่ปรึกษาราชการต่างๆสมควรจะเป็นเสนาบดีที่ตำแหน่งผู้ใหญ่ได้" จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ผู้เป็นพระบรมญาติอันประเสริฐ เป็นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม

           คำว่าพระญาตินี้เกี่ยวเนื่องด้วย ธิดาของท่านถึง ๒ คน

           ธิดาชื่อแพ เป็นเจ้าคุณจอมมารดาในรัชกาลที่ ๕  ถึงราชการที่ ๖ ทรงสถาปนาเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
           ธิดาชื่อโหมด เป็นเจ้าหม่อมมารดาในราชการที่ ๕ พระมารดาในพระองค์เจ้าอาภากรณ์เกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

          ท่านเจ้าคุณทหารมีผลงานทางราชการอื่นๆที่อาจจะไม่ได้รับรู้กันโดยทั่วไปอีกหลายประการ อาทิ เช่น

           ๑.เป็นผู้ต่อเรือพระที่นั่ง สยามอรสุมพล ซึ่งเป็นเรือที่ใช้เครื่องจักรลำแรกของประเทศไทย โดยการนำเข้าเครื่องมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และโปรดให้เป็นผู้ดูแลราชการเรือกลไฟตลอดมา
           ๒.ท่านยังมีผลงานในส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปคือการขุดคลอง ซึ่งท่านได้มีส่วนร่วมในการขุดคลองหลายสายในประเทศไทย อาทิเช่น
                “คลองเปรมประชากร”เป็นคลองขุดสายแรกที่รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้น โดยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองขุด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒
                “คลองประเวศบุรีรมย์” ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เป็นผู้อำนวยการขุด โดยขุดต่อจากคลองพระโขนงเชื่อมแม่น้ำบางปะกง ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเงินทุนจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติส่วนหนึ่ง และเงินจากราษฎรส่วนหนึ่งเป็นค่าขุดคลอง โดยจะให้ราษฎรที่ออกเงินได้รับผลประโยชน์จากการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นค่าตอบแทน ต่อมาเมื่อที่ดินไม่เพียงพอกับความต้องการของราษฎร จึงได้ช่วยกันออกเงินจ้างจีนขุดคลองแยก อีก ๔ คลอง คือ คลอง๑ คลอง๒ คลอง๓ และคลอง๔ ซึ่งเริ่มขุดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๑ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ มีความยาวทั้งสิ้น 46 กม.
                “คลองทวีวัฒนา” ท่านได้รับหน้าที่เป็นแม่กองขุด เริ่มขุดใน พ.ศ. ๒๔๒๑ และขุดแล้วเสร็จในปีเดียวกัน
                “คลองนราภิรมย์” เป็นคลองเชื่อมกับคลองทวีวัฒนา ท่านได้รับหน้าที่เป็นแม่กองขุด เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๓๑
                “คลองเปร็ง “ท่านทำหน้าที่เป็นแม่กองขุด ปี ๒๔๒๙ ถึง ๒๔๓๑
           ๓.ท่านดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ซึ่งต่อมาตำแหน่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๔๑๒_๒๔๓๑ จึงได้ลาออกเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ

การมอบที่ดินเพื่อการศึกษา

           เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านเจ้าคุณทหารเป็นผู้อำนวยการขุดคลองเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ากับแม่น้ำบางปะกง ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า คลองประเวศบุรีรมย์ ได้เห็นคนงานซึ่งมารับจ้างขุดคลองดังกล่าว ไร้การศึกษาตกเย็นก็ดื่มสุราและก่อการวิวาท ฆ่าฟันกันอยู่เป็นเนือง จึงได้ปรารภกับคุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ผู้เป็นธิดา ต้องการบริจาคที่ดิน ในบริเวณดังกล่าวจำนวน ๑๐๔๑ ไร่ เพื่อตั้งเป็นสถานศึกษา และได้ทำการมอบที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับกระทรวงศึกษาธิการ  เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ใช้ชื่อว่า วิทยาลัยเจ้าคุณทหาร เพื่อเป็นเกียรติแด่เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (เจ้าคุณทหาร) ผู้เป็นบิดา
           ต่อมากรมอาชีวศึกษา ได้เข้ามาขอใช้พื้นที่เพื่อก่อตั้งวิทยาลัย โดยมีดำริที่จะจัดตั้งสถานศึกษาสำหรับฝึกหัดครูอาชีวะ ขึ้นมาในที่ดินดังกล่าวในเบื้องต้นได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเปิดสอนในสาขาวิชาช่างกลแต่ประสบปัญหาบางประการ ทำให้ต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวไป
           จวบจน โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม มีความต้องการใช้พื้นที่และได้ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวในการจัดตั้งโรงเรียนแทนสถานที่เดิม โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร โดยเริ่มการก่อสร้างในเดือน กันยายน พ.ศ.๒๕๑๑ และเปิดทำการสอนในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๓ ต่อมาได้โอนสังกัดเข้ายังกรมอาชีวศึกษาและจัดตั้งเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร ในพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ในขั้นต้นและจะเพิ่มเติมให้ตามความต้องการใช้งาน
           ในส่วนของแผนกช่างกล ทางกรมอาชีวศึกษาได้จัดตั้งวิทยาลัยขึ้นมาใหม่โดยได้ขยายวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี มาจัดตั้งวิทยาเขตในพื้นที่ดังกล่าว และ มีการย้ายโรงเรียนวิชาการก่อสร้างจากสถานที่เดิมมาใช้พื้นที่นี้  และโอนไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตามจุดประสงค์ของผู้บริจาคที่ดิน

  

ลานอนุสาวรีย์ท่านเจ้าคุณทหารและสวนป่าบุนนาค

           การสร้างลานอนุสาวรีย์ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์(เจ้าคุณทหาร)๒๕๕๘ นี้เกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจ ในบรรดาศิษย์เก่าเจ้าคุณทหาร บุคคลากรและผู้ซึ่งสำนึกในพระคุณของท่านเจ้าคุณทหาร โดยทางคณะกรรมการได้ดำเนินการขออนุญาต จากทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการย้ายอนุสาวรีย์จากที่ตั้งเดิม เพื่อให้เกิดความสง่างาม สมเกียรติท่านเจ้าคุณทหารผู้เป็นเจ้าของที่ดินเดิมและปรารภในการมอบที่ดินริมคลองประเวศเพื่อการศึกษา ทำให้บรรดาลูกเจ้าคุณทหารทั้งหลายได้มีวิชาความรู้ในการประกอบสัมมาชีพ และพัฒนาประเทศชาติตามจุดประสงค์ของท่าน โดยคณะกรรมการซึ่งได้รับมอบหมายจากทางสถาบันฯ ในการจัดสร้าง ได้ดำเนินการออกแบบทั้งส่วนของโครงสร้าง สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ การหาทุน และการควบคุมการสร้างให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ด้วยความตั้งใจให้เป็น อนุสาวรีย์ที่สวยที่สุดในประเทศไทย
            วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๘    ได้รับอนุญาตจากทางสถาบันฯ
            วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘    วางศิลาฤกษ์
            วันที่  ๕ มกราคม ๒๕๕๙      ดำเนินการออกแบบและจัดหาผู้รับเหมา
            วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙     เริ่มดำเนินการก่อสร้าง
            วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙        ย้ายอนุสาวรีย์ฯมายังที่ตั้งใหม่
            วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๙    ส่งมอบทั้งหมดให้กับทางสถาบันฯ
           รวมงบประมาณค่าก่อสร้าง   ๔,๒๓๘,๔๔๖.๓๑   บาท   ซึ่งเป็นเงินจากการบริจาคทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่รวม ต้นไม้และอุปกรณ์ซึ่งได้รับการบริจาค
           ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง  ๒๘๔ วัน จนถึงวันส่งมอบ
            อนุสาวรีย์ท่านเจ้าคุณทหาร ปัจจุบันตั้งอยู่บนแท่นภายในลานอนุสาวรีย์ฯ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. ในตำแหน่งใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมในครั้งแรกก่อสร้าง ซึ่งพิกัดปัจจุบันคือ  ละติจูด 13.72721 ลองติจูด 100.77967

รายละเอียดการก่อสร้าง

 ออกแบบและปั้นโดย

รศ.สมศักดิ์  ปรียวนิชย์ อดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.
มีขนาดรวมฐานโดยประมาณ กว้าง ๕๐ ยาว ๕๐ สูง ๑๘๕ เซนติเมตร
วัสดุ ทองแดงสัมฤทธิ์ น้ำหนักโดยประมาณ   ๔๐๐  กิโลกรัม

           ในการสร้างครั้งแรกโดยดำริของ อ.ปิฏฐะ บุนนาค ซึ่งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร เพื่อเป็นที่เคารพสักการะและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของศิษย์และบุคลากร โดย พญ.ปทุมทิพย์ สาครวาสี ซึ่งเป็นหลานของท่านเจ้าคุณทหาร ขอเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างอนุสาวรีย์นี้ และจัดตั้งไว้ในบริเวณลานหน้าสำนักงานฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘

  

แบบผังของลานอนุสาวรีย์และสวนป่าบุนนาค

           ลานอนุสาวรีย์ฯ มีขนาดกว้างประมาณ ๑๒๒ เมตร ลึก  ๓๒  เมตร รวมพื้นที่ประมาณ ๒๗๐๐ ตารางเมตร

ประกอบด้วย ๔ ส่วนคือ

           ๑. ส่วนฐานอนุสาวรีย์ ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กปูด้วยศิลาแลง
           ๒. กำแพงล้อมด้านหลังของสวนฯ ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กกรุด้วยศิลาแลง
           ๓. เสาจารึก ทำจากไม้บุนนาค ขนาด ๕๐x๕๐ ซม. สูงรวมฐาน ๑๙๐ ซม.
           ๔. สวนป่าบุนนาค จำนวน ๒ ส่วน คือ สวนด้านซ้ายเป็นพืชตระกูลปาล์มและปรง และสวนด้านขวาคือสวนที่ประกอบด้วยพืชที่มีความหลากหลาย
 จำนวนต้นไม้ที่นำมาปลูกมีมากกว่า ๑๓๗ ชนิด  จำนวนประมาณ   ๗๒๐   ต้น
หินประดับ                                                จำนวนประมาณ     ๒๐   ก้อน
หินศิลาแลงก่อกำแพงจากแหล่งศรีมหาโพธิ์      จำนวนประมาณ ๕,๐๐๐ ก้อน
แผ่นหินทราย สำหรับปูพื้นจากแหล่ง สูงเนิน      จำนวน           ๔,๕๖๐ แผ่น
ด้านหลังของสวนเป็นแนวซึ่งได้ปลูกต้นบุนนาคไว้จำนวน ๒๖ ต้น 

ผู้มีส่วนร่วมในการจัดสร้าง

๑. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์   อธิการบดี     เป็นประธานที่ปรึกษา

๒. ผศ.ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค  รองอธิการบดี   ประธานประสานงาน

๓. นายอำนวย อินทจักร์      ศิษย์เก่า กจ.๓   ประธานกรรมการก่อสร้าง

 

ผู้ออกแบบลานอนุสาวรีย์และสวนป่าบุนนาค  นายอำนวย อินทจักร์  กจ.๓

ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมและโครงสร้าง       นายวิมาน วิรุฬห์จรรย์ กจ.๔

ประธานฝ่ายระดมทุน                              นายชาญชัย แสงหิรัญ กจ.๑

ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์                       พอ.พิเศษ จารึก ศรียาภัย กจ.๑

ประธานฝ่ายจัดจ้างและควบคุมฯ                นายไพศาล โชคงาม  กจ.๓

ประธานฝ่ายตรวจสอบ                             นายพุฒิเวทย์ บุณยาศวิน กจ.๓

ประธานฝ่ายการเงินและเลขานุการ             น.ส.จิราพร ลายลักษณ์  กจ.๑๒

ผู้รวบรวมรายชื่อต้นไม้                             รศ .หัตถ์ชัย กสิโอฬาร  กจ.๕

ผู้รวบรวมและจัดทำหนังสือ                       รศ.ดร.กนก เลิศพานิช  กจ.๑๘

 

ประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีวางศิลาฤกษ์

พระราชพัฒนโสภณ วิมลวิหารกิจ มหาคณิสสร บวรสังคาราม คามวาสี (หลวงพ่อเณร ) วัดทุ่งเศรษฐี

 

ประธานฝ่ายฆราวาส

ศ.ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล.

https://www.youtube.com/watch?v=jwNhrxL0Oec