จุดเริ่มต้นจากโรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม มาเป็น โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระนคร 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือทั่ว ๆ ไปเรียกว่าเจ้าคุณทหาร ไปควบคุมและดำเนินการขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำบางปะกง โดยขุดผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อการคมนาคมและการเกษตร การขุดคลองนี้ได้ขุดผ่านท้องถิ่นที่อำเภอลาดกระบัง ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่าคลองประเวทย์ ในขณะที่เจ้าคุณทหารควบคุมการขุดคลองอยู่นั้น เมื่อขุดมาถึงลาดกระบัง หัวตะเข้ก็ได้สังเกตเห็นว่าคนงานรับจ้างขุดดินในการขุดคลองแถวนี้ เมื่อเลิกงานก็ดื่มสุรา มึนเมา เล่นการพนัน ทะเลาะวิวาท ฆ่าฟันกันตายเป็นเนืองนิจ จึงได้ปรารภกับท่านเลี่ยม ซึ่งเป็นธิดา ว่าคนพวกนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วในชีวิตหากินมาได้กินเหล้าเล่นพนันหมด ซ้ำยังก่อการวิวาทฆ่าฟันอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะขาดการศึกษา ดังนั้นทางที่จะช่วยคนพวกนี้ได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือ ให้การศึกษาแก่บรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ของคนพวกนี้เท่านั้น เมื่อเกิดความคิดเห็นเช่นนี้แล้วจึงได้จัดหาที่ดินในบริเวณริมคลองที่ขุดนั้นแปลงใหญ่แปลงหนึ่ง ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ โดยมีความตั้งใจไว้ว่าจะให้ที่ดินผืนนี้เป็นสถานศึกษาให้ความรู้แก่อนุชนรุ่นหลังให้มีสติปัญญา มีอาชีพที่ดีให้ได้ แต่ต่อมาในไม่ช้าท่านเจ้าคุณทหารก็ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่ดินผืนนี้จึงได้ตกเป็นมรดกสมบัติของท่านเลี่ยม ท่านเลี่ยมจึงได้รับผลประโยชน์จากการเก็บค่านาจากที่ดินผืนนี้ตลอดมา เมื่อท่านเลี่ยมได้สามีคือคุณหลวงพรตพิทยพยัต ซึ่งเป็นผู้ได้รับการศึกษาสูงมาจากประเทศยุโรป และได้เป็นคณบดีในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกันคิดที่จะจัดให้ที่ดินผืนนี้เป็นสถานศึกษาชั้นสูงขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้สมเจตจำนงสืบทอดมาจากท่านเจ้าคุณทหาร โดยขั้นแรกได้พยายามจัดตั้งโรงเรียนประถมและมัธยมเสียก่อน จึงได้เริ่มก่อสร้างอาคารขึ้นพร้อมได้สละทุนทรัพย์เป็นทุนครั้งแรกจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ในสมัยนั้นการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมีปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับการหาเด็กนักเรียนจึงมีนักเรียนจำนวนน้อยและมีครูเพียงสองคนเท่านั้น ต่อมาคุณหลวงพรตพิทยพยัต ก็ถึงแก่กรรมลงอีก คงเหลือแต่ท่านเลี่ยมซึ่งไม่มีบุตรธิดาเลย ท่านเลี่ยมก็ยังคงมีความปรารถนาเดิมอย่างแรงกล้า พยายามทำนุบำรุงและส่งเสริมโรงเรียนที่สร้างขึ้นมานั้นให้เจริญเติบต่อไป ในขณะเดียวกันท่านเลี่ยมก็ได้สละทรัพย์สมบัติส่วนตัวช่วยเหลือโรงเรียนอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในท้องที่แห่งนี้อีกหลายโรงเรียนทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงโรงเรียนวัด โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนราษฎร์ บางโรงเรียนก็มาตั้งขึ้นในพื้นที่ดินของท่าน ท่านก็ไม่เก็บค่าเช่าที่ดินหรือผลประโยชน์แต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับสนับสนุนช่วยเหลืออุปการะเรื่อยมา ส่วนโรงเรียนที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นมาเองนั้นนับวันก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเรียนมากขึ้น มีครูอาจารย์มากขึ้น จึงได้ใช้ชื่อว่าโรงเรียนพรตพิทยพยัต เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คุณหลวงพรตพิทยพยัตผู้สามีที่ล่วงลับไปแล้ว กิจการของโรงเรียนพรตพิทยพยัตจึงเจริญเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อท่านเลี่ยม แก่ชราลงมากแล้วท่านตระหนักในตัวท่านดีว่าคงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่นอนงานที่ท่านบิดามีความปรารถนาอยู่นั้น จะสำเร็จต่อไปให้ได้ดีนั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่านี้ จึงได้ตัดสินใจมอบที่ดินส่วนที่เหลือจากได้แบ่งสรรให้โรงเรียนพรตพิทยพยัตและผู้ที่ท่านอุปการะเมตตาสงสารไปแล้ว จำนวนหนึ่งให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเป็นทางการเมื่อ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นเนื้อที่ดินจำนวน ๑,๐๔๑ ไร่ เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยเจ้าคุณทหารเป็นอนุสรณ์แด่ท่านบิดา โดยมีท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คุณหลวงพรหมโยธี เป็นผู้รับมอบต่อหน้าที่ท่านผู้มีเกียรติหลายท่าน เช่น ม.ล. ปิ่น มาลากุล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ฯลฯ พิธีมอบได้จัดทำขึ้นที่ห้องประชุมของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงสรรเสริญเรื่องนี้ว่า นับว่าเป็นผู้บริจาคทรัพย์บำรุงการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่ปรากฏในรอบสิบปีหลังนี้

          ในขณะนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการได้มอบเรื่องนี้ให้กองคลังของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคุณโถ สุขะวรรณ เป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ในที่ดินผืนนี้ ทางกองคลังจึงได้ทำหลักคอนกรีตมีตราเสมาธรรมจักรเป็นเครื่องหมายของกระทรวงศึกษาธิการไปปักตามขอบเขตของที่ดินแสดงอาณาเขตของกระทรวงศึกษาธิการ และก็ได้เก็บผลประโยชน์จากที่ดินผืนนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนประชาชนที่เคยเช่าอาศัยที่ดินผืนนี้ทำมาหากินเลี้ยงชีพ ซึ่งมีการทำนา เลี้ยงเป็ดไก่ สุกร ตลอดจนค้าขาย ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับทางอำเภอลาดกระบังพิจารณาผ่อนผันเป็นราย ๆ ไป บางรายก็ขอให้โยกย้ายไปโดยได้ตกลงหาที่ดินในคลองลำกระโดงให้เป็นที่เช่าอาศัยอยู่ใหม่ และงดเก็บค่าเช่าที่ดินเป็นเวลา ๓ ปี เพื่อให้โอกาสขยับขยายไปอยู่ที่อื่น เนื่องด้วยทางกระทรวงศึกษาธิการมีความประสงค์ที่จะตั้งโรงเรียนช่างกลขึ้น เมื่อได้งบประมาณมาก้อนหนึ่งจึงได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างทันที โดยได้สร้างโรงงานช่างกลเป็นโครงเหล็กเพื่อใช้เป็นที่ฝึกงานสอนวิชาช่างขึ้น ๒ หลัง เป็นมูลค่าก่อสร้างประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท บ้านพักครูอีกหนึ่งหลัง และทำการเจาะน้ำบาดาลพร้อมทั้งยกท่อถังน้ำสูง เพื่อใช้น้ำบริโภคอีกเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เกิดปัญหาเรื่องการหาครูและนักเรียนมาดำเนินการสอนที่โรงเรียนช่างกลแห่งนี้ ในวันหนึ่งจะมีรถไฟผ่านประมาณสองขบวนเท่านั้นถนนที่จะตัดจากพระนครมาถึงเช่นถนนอ่อนนุชในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มี จึงมีการคมนาคมทางเรือและทางรถไฟเท่านั้น ประกอบกับพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำเมื่อถึงหน้าฝนหน้าน้ำ น้ำก็ท่วมสูง จึงทำให้โครงการโรงเรียนช่างกลนี้ไม่ประสพผลสำเร็จขึ้นมาได้กระทรวงศึกษาธิการพยายามหาเงินงบประมาณจากรัฐบาลแต่อย่างไรมาอีกเลยที่ดินผืนนี้จึงได้ถูกทอดทิ้งไว้เฉยๆ เพียงแต่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าเช่าบ้างเล็กๆน้อยๆเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้พิจารณาว่าที่ดินผืนนี้ควรจะได้ใช้ประโยชน์ให้มากกว่านี้เพื่อให้สมตามความมุ่งหวังของผู้บริจาค และที่ดินผืนนี้ก็มีราคาสูงขึ้นมากการที่จะหาที่ดินผืนใหญ่ๆใกล้กรุงเทพนั้นย่อมมีโอกาสได้ยากขึ้นแล้วในปัจจุบันนี้ จึงได้ปรึกษาหารือกับท่านอธิบดีจากกรมต่างๆในกระทรวงศึกษาธิการ ในที่สุดกรมอาชีวศึกษาซึ่งมีนายพงศ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ เป็นอธิบดี ตกลงรับที่จะนำที่ดินผืนนี้มาปรับปรุงจัดตั้งให้เป็นสถานศึกษาอาชีวะชั้นสูงให้เป็นวิทยาลัยเจ้าคุณทหารดังเจตจำนงผู้ที่บริจาคให้ โดยทางกรมอาชีวศึกษามีนโยบายที่จะจัดเป็นวิทยาลัยครูอาชีวศึกษาในระดับเทคนิคชั้นสูงเทียบเท่าระดับปริญญาตรีโดยมีสาขาช่างและเกษตรกรรม ดังนั้นที่ดินผืนนี้จึงได้ถูกมอบมาให้อยู่ในโครงการจัดตั้งวิทยาลัยเจ้าคุณทหารของกรมอาชีวศึกษา ประกอบด้วยในระยะนั้นกรมอาชีวศึกษามีโครงการพัฒนาอาชีวศึกษา โดยรัฐบาลอนุมัติให้กู้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารแห่งประเทศไทยมาดำเนินการปรับปรุงวิทยาลัย,โรงเรียนอาชีวิศึกษาทางสาขาช่างและเกษตรกรรมรวมทั้งการผลิตครูอาชีวศึกษาด้วย โรงเรียนและวิทยาลัยเกษตรกรรม ๑๐ แห่งได้รับเลือกเข้ามาอยู่ในโครงการพัฒนาอาชีวศึกษานี้ด้วย

          โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐมจังหวัดปฐมเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมแห่งหนึ่งที่รวมอยู่ในโครงการนี้ เนื่องด้วยจังหวัดนครปฐมมีโครงการปรับปรุงพัฒนาจังหวัดนครปฐม โดยจะใช้ที่ตั้งของโรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐมเป็นที่จัดตั้งวิทยาลัยทับแก้วซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทางจังหวัดนครปฐมจึงได้จัดที่ดินผืนใหม่สองแห่งเพื่อให้โรงเรียนเกษตรกรรมโดยมีนายเชิญ มณีรัตน์ เป็นหัวหน้ากองไปพิจารณาตรวจสอบดูสถานที่แล้วไม่เห็นสมควรที่จะรับให้เป็นสถานที่แห่งใหม่ของโรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม ทางกองโรงเรียนเกษตรกรรมได้นำเรื่องนี้เข้าปรึกษาทางกรมฯพร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการพัฒนาอาชีวศึกษา จึงได้ตกลงตัดสินใจให้ย้ายโครงการโรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม มาดำเนินการที่วิทยาลัยเจ้าคุณทหาร อำเภอลาดกระบัง ซึ่งที่ดินผืนนี้มีโครงการจัดตั้งเป็นวิทยาลัยอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนเกษตรกรรมจึงได้รับมาตั้งขึ้นที่ลาดกระบังเป็นหน่วยแรก และประกาศให้ชื่อโรงเรียนเกษตรกรรมแห่งใหม่นี้ว่า โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร มีอักษรย่อว่า กจ. เพื่อเริ่มโครงการจัดตั้งวิทยาลัยเจ้าคุณทหารต่อไป การก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้จึงได้เริ่มขึ้นโดยขั้นแรกได้สร้างคันดินเป็นคันกั้นน้ำรอบพื้นที่ดินด้านหน้าประมาณ ๑๐๐ ไร่ขึ้นก่อน เพื่อใช้พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่ก่อสร้างอาคารต่างๆของโรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร เมื่อทำคันเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มลงมือก่อสร้างอาคารต่างๆขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดจุนโซซากากุระ จากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างและมีห้างหุ้นส่วนจำกัดออนไทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยใช้เงินงบประมาณค่าก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่จากยอดโครงการพัฒนาอาชีวศึกษาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๔,๓๑๑,๗๐๐.- บาท การก่อสร้างได้เสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐมก็ได้ย้ายพัสดุคุรุภัณฑ์ของโรงเรียน ครู อาจารย์ ตลอดจนคนงานภารโรงเกือบทุกคนมาดำเนินการที่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารแห่งใหม่นี้ ส่วนอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม นายสัณหจิตต์ ฐาปนดิลก นั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมแห่งใหม่ที่เปิดขึ้นของกรมอาชีวศึกษาและในขณะเดียวกันก็ได้แต่งตั้งให้นายปิฎฐะ บุนนาค ศึกษานิเทศก์เอกจากกรมมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร

อาจารย์ปิฐฐะ บุนนาค อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร และผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารอาจารย์ปิฐฐะ บุนนาค อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร และผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร

          โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารจึงได้เริ่มเปิดรับนักเรียนชั้นปีที่ ๑ (ม.ศ. ๔) ขึ้นที่ลาดกระบังเป็นปีแรก มีผู้มาสอบคัดเลือก ๔๒๘ คน แต่ทางโรงเรียนรับไว้เพียง ๙๐ คน ส่วนนักเรียนชั้นปีที่ ๒ และ ๓ (ม.ศ. ๕ - ๖) รวมทั้งนักเรียนชั้น ม.ศ. ๔ ที่ต้องเรียนซ้ำชั้นจากนครปฐมนี้นก็ย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบังนี้หมด รวมในปีการศึกษาแรกมีนักเรียนรวมทั้งสิ้น ๒๙๐ คนมีครูอาจารย์ทั้งสิ้น ๓๓ คนมีคนงานภารโรงทั้งสิ้น ๑๒ คน เมื่อกำหนดเปิดเรียนภาคต้นคือวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ทางโรงเรียนก็ไม่อาจสามารถเปิดเรียนได้เพราะยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปาซึ่งยังไม่เรียบร้อย จึงได้ขออนุมัติกรมเลื่อนการเปิดเรียนภาคต้นไปเป็นวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓นับเป็นปีการศึกษาแรกของโรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบังพระนคร จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2517ได้สถาปนาเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารได้โอนมาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและได้รับการยกฐานะเป็น "คณะเทคโนโลยีการเกษตร" มาจนทุกวันนี้

          

หมายเหตุ ประวัติที่ดินที่จัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารแห่งนี้ ผู้เขียนได้สอบถาม และค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ยากเหลือเกิน จึงอาจมีบางตอนคลาดเคลื่อนได้ ขอโปรดท่านผู้ทราบเรื่องนี้ดีกรุณาให้ความกระจ่างแจ้ง เพื่อแก้ไขให้ใกล้ความจริงขึ้น และในโอกาสนี้ขอกราบขอบพระคุณท่านผู้มีนามต่อไปนี้กรุณาให้ข้อเท็จจริงด้วย

๑. คุณโถ สุขวรรณะ ๒๓ ตรอกพระยานคร ยานนาวา พระนคร
๒. อาจารย์ใหญ่โรงเรียนพรตพิทยพยัต ลาดกระบัง
๓. ข้าราชการศึกษาธิการ อำเภอลาดกระบัง
๔. อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนวัดสังฆราชา

สัญลักษณ์โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร

เจ้าคุณทหารเป็นชื่อโรงเรียนเกษตรกรรมแห่งนี้ ดังนั้นตราของโรงเรียนเกษตรกรรมแห่งนี้ จึงประกอบไปด้วยความหมาย 3 ประการด้วยกันที่รวมกันขึ้นเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมแห่งนี้คือ

  1. ดอกบุนนาค เป็นสัญญาณของเจ้าคุณทหาร เนื่องด้วยท่านมีกำเนิดในสกุลบุนนาค ดังนั้นดอกบุนนาคที่มีกลีบสีขาวสี่กลีบจึงเป็นลักษณะขอบเขตกรอบนอกของตรา แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่โรงเรียนนี้ได้มีกำเนิดขึ้นบนผืนแผ่นดินของท่าน
  2. รูปเสมาธรรมจักร ซึ่งเป็นตราของกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการแสดงให้ทราบได้ว่า โรงเรียนแห่งนี้อยู่ในสังกัดกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ และมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสถานที่ให้วิชาการความรู้แก่ประชาชน
  3. รูปพระพิรุณทรงนาค เป็นสัญญาลักษณ์ของเกษตรกรรมซึ่งบ่งชัดให้ทราบได้ว่าสถานศึกษาแห่งนี้จะให้วิชาความรู้ในทางเกษตรกรรมเมื่อรวมสัญญาลักษณ์ทั้งสามเข้าด้วยกันแล้ว อาจหมายหมายว่า เจ้าคุณทหารได้เป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนแห่งนี้แก่กระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาเกษตรกรรมขึ้น

      

          ดอกบุนนาคเป็นดอกไม้ที่ได้ถูกเลือกเอาเป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระนคร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าคุณทหาร ซึ่งมีสกุลว่า “บุนนาค” และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อทายาทสกุลนี้ ที่ได้อุทิศที่ดินประมาณ ๑,๐๔๑ ไร่ ให้แก่กรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาขึ้นในพื้นที่อำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร จึงขอกล่าวถึงดอกบุนนาค ทั้งต้นบุนนาค เพื่อประดับความรู้แก่ท่านผู้อ่านพอสมควร เพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณแก่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารแห่งนี้

          ต้นบุนนาคหรือดอกบุนนาค เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความสำคัญอยู่บ้างสำหรับคนเอเซียเพราะทั่วโลกยกย่องให้ว่าเป็นต้นไม้ที่สวยงามทั้งรูปทรงและดอกหอมงดงามมากต้นหนึ่งในบรรดาพันธุ์ไม้เมืองร้อน ในลังกาหรือชะวาใช้ต้นบุนนาคปลูกเป็นไม้ประดับตามถนนในเมือง และนิยมปลูกกันในบริเวณวัดริมโบสถ์ ในเมืองไทยเราปลูกกันบ้างตามบ้านสวนโดยหวังได้ดมกลิ่นหอมของดอก ถือว่าเป็นกามเทพที่แผลงศรรักมาเสียบทรวงของอินเดียก็ต้องมีลูกธนูดอกหนึ่งที่ทำด้วยไม้ต้นบุนนาค เพื่อมีความหมายว่าธนูดอกนั้นเสียบเข้าที่ทรวงของคนอินเดียคนใดแล้วก็ได้รับแต่ความรักที่หวานสดชื่นมิรู้ลืม ในการมงคลสมรสของชาวอินเดียนั้นก็ต้องมีดอกบุนนาครวมอยู่ด้วย โดยชาวอินเดียจะยัดดอกบุนนาคแห้งไว้ในหมอนวิวาห์ เพื่อเป็นมงคลและให้เกิดความรักสดชื่นแก่คู่สมรสนั้นสืบไป

          ในเมืองไทยเรานั้นเราใช้ดอกบุนนาคเป็นเครื่องอบของหอมต่างๆจึงหามาปลูกกันบ้างตามบ้านสวนในกรุงเทพฯ ต้นบุนนาคที่ปลูกกันในกรุงเทพฯนั้นดอกมีกลิ่นหอมแรงมากกว่าบุนนาคในป่าตามชนบท นอกจากนี้คนไทยยังใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นบุนนาครักษาโรคทางแพทย์แผนโบราณ เช่นใบบุนนาคใช้พอกแผลสด บาดแผลต่างๆ เช่นคมดาบคมมีดแม้กระทั่งแผลงูกัด เปลือกมีสรรพคุณทางแก้หนองและเสมหะในลำคอ แก่นใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน รากเป็นยาขับลมในลำไส้

          ต้นบุนนาคเป็นพันธุ์ไม่ยืนต้นขนาดกลางชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบร้อน เช่น อินเดีย ไทย ลังกา ชะวา มลายู ฯลฯ เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูล Cuttiferoa มีชื่อวิทยาศาสตร์หรือชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Mesua ferrea, Line แต่ชื่อสามัญทั่ว ๆ ไป เรียกว่า Iron wood, Indian Rox เนื่องจากต้นบุนนาคเป็นไม้เนื้อแข็งเจริญเติบโตแล้วมีรูปทรงงดงามมาก มีกิ่งก้านและใบคลุมพื้นดินงดงามน่าดู โดยเฉพาะต้นที่ขึ้นอยู่กลางแจ้ง แต่ต้นที่ขึ้นอยู่ในป่ามีแสงรำไรจะมีทรงสูงมากกว่า แผ่เป็นพุ่มกว้าง ใบบุนนาคมีลักษณะเล็กยาวปลายแหลม คล้ายใบมะปราง ใบหนาและแข็ง ใบอ่อนเริ่มผลิมีสีแดงเลือดนกต่อมามีสีชมพูและในที่สุดเป็นสีเขียวแก่ ถ้าหากต้นบุนนาคขึ้นในที่มีอากาศแห้งแล้งจะมีลักษณะขอบใบแห้งในฤดูร้อน ในรอบปีหนึ่งจะมีการผลัดใบสองครั้งคือในราวเดือนพฤศจิกายนครั้งหนึ่งและในราวเดือนเมษายนอีกครั้งหนึ่ง

          ดอกบุนนาคมีลักษณะคล้ายดอกกุหลายป่าที่มีกลีบชั้นเดียวไม่ซ้อน ดอกมีขนาดโตประมาณ ๓ นิ้ว มีกลีบโต ขอบมน สีขาวบริสุทธิ์ ๔ กลีบ เรียงห่างกันพองาม กลีบบางอ่อน ตรงกลางดอกมีเกสรสีเหลืองทองรวมกันอยู่เป็นกระจุกใหญ่ จะออกดอกในราวเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม เวลามีดอกออกดอกดกเต็มต้น ดอกมีกลิ่นหอมเย็นและส่งกลิ่นไปได้ไกล เมื่อได้กลิ่นดอกบุนนาคในป่าแล้ว สามารถดมกลิ่นตามไปหาต้น